วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ย้อนรอยเส้นทางการเมือง "นายกฯหญิง" คนแรกของประเทศ

ยิ่งลักษณ์หายไปไหน? คือคำถามที่กล้องอยู่ในใจของคนไทยทั้งประเทศ หลังจากที่อดีตนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยไม่ได้เดินทางไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เพื่อฟังคำพิพากษาคดีการทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี

โดยให้เหตุผลว่ามีอาการป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน มีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ แต่ศาลไม่เชื่อว่าป่วยถึงขนาดจะมาไม่ได้ จึงออกหมายจับพร้อมริบเงินประกัน 30 ล้าน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกระแสข่าวตามมาโดยแสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าอดีตนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย อาจหลบหนีออกนอกประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วที่สำคัญจุดหมายปลายทางอาจจะอยู่ที่ดูไบตามรอยพี่ชายก็เป็นได้

หากสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องจริงปฐมบทชีวิตในต่างแดนของอดีตนายกฯหญิงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงต้องเริ่มต้นใหม่ ตามไปย้อนดูจุดเริ่มต้นเส้นทางการเมืองนายกหญิงคนแรกของประเทศไทยก่อนที่ชีวิตพลิกผันไปตลอดกาล

หลังจากวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2549 พรรคไทยรักไทย ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคือ อดีต พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถูกศาลตัดสินให้ยุบพรรคเมื่อปี 2550 จากคดีจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครเลือกตั้งและลี้ภัยการเมืองไปยังต่างประเทศ

จากนั้นก็มีการตั้งพรรคพลังประชาชนขึ้นมาใหม่โดยที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคและถูกตัดสินให้ยุบพรรคเมื่อปี 2551 ในคดีทุจริตการเลือกตั้ง ทำให้ ส.ส.ส่วนใหญ่ย้ายสังกัดไปประจำพรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อปลายปี 2553 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง


โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเปิดทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวพรรคแทนเพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ก็เธอกลับตอบปฏิเสธไปโดยให้เหตุผลว่าต้องการมุ่งความสนใจไปยังการทำธุรกิจ

แต่แล้วเส้นทางการเมืองก็หนีไปไม่พ้นอยู่ดี เนื่องจากวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติเลือกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 1 เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 3 กรกฎาคม โดยที่เธอไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค

และที่สำคัญกระแสข่าวนี้ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าพี่ชายของเธอคือ อดีต พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร อาจเป็นผู้ตัดสินใจขอร้องให้น้องสาวเป็นผู้สมัครท้าชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นชื่อของเธอปรากฏตามสื่อๆต่างมากมายและได้รับความสนใจจากสื่อหลายแขนงเพราะหากเธอทำสำเร็จจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งประเทศไทย

ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จับสลากได้เบอร์ 1 และชูนโยบายหาเสียงที่เอาใจประชาชนอย่างมาก ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ300บาท เงินเดือน15,000บาท รถยนต์คันแรก และนโยบายหวังยกระดับชีวิตเกษตรกรอย่าง "โครงการรับจำนำข้าว"


ทำให้วันที่ 3 กรกฎาคม  2554 ประชาชนเทคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้นได้ ส.ส.จำนวน 265 ที่นั่งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยมีการเลือก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

แต่ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกฯปูก็ถูกทดสอบด้วยภัยธรรมชาติเมื่อฤดูฝนปีนั้นเกิดอุทกภัยอย่างหนักประเทศไทยมีระดับปริมาณน้ำฝนสูงที่สุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมตั้งแต่ภาคเหนือลงมาสู่ภาคกลาง และเกิดการวิตกกังวลว่าน้ำอาจจะเข้าท่วมกรุงเทพฯทั้งหมด แต่นายกฯหญิงคนแรกพร้อมแก้ปัญหาและยืนยันว่า “เอาอยู่”

แต่บททดสอบก็ยังดำเนินต่อไปเมื่อต้องเจอสารพัดม็อบที่รุมเข้ามากดดันทั้งม็อบแช่แข็งประเทศไทยของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ม็อบหน้ากากขาว ม็อบสวนยางที่ปิดถนนภาคใต้ ม็อบต่อต้านเขื่อนแม่วงก์

และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการกู้เงินสองล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ และระบบรางรถไฟความเร็วสูงให้กับประเทศไทยและยังถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ายังไม่เหมาะสมกับประเทศไทย


แต่เรื่องที่ทำให้เส้นทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหญิงต้องสั่นคลอนและกลายเป็นแรงต่อต้านที่มีมากขึ้นในขณะนั้น คงหนีไม่พ้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ อดีต พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร

ทำให้เกิดการ “คัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เป็นวงกว้างทั้งประชาชนทั่วไปและฝ่ายเสื้อแดงบางกลุ่มที่มองว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กระสุนจริงกับคนเสื้อแดงจะถูกอภัยโทษไปด้วย ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของม็อบฝ่ายต่อต้านภายใต้แกนนำ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งใช้ชื่อม็อบ กกปส. และดูเหมือนวิกฤตการณ์ทางการเมืองจะเริ่มดุเดือดขึ้น เมื่อแกนนำ นปช.มีการชุมนุมคนเสื้อแดงกทม.เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้ายม็อบ กปปส. เนื่องจากมองว่าเป็นฝ่ายล้มล้างอำนาจประชาธิปไตย

จนเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ประกาศทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาขอยุบสภาผู้แทนราษฎร


จากนั้นเมื่อ วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง จากกรณีมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ยุติเส้นทางการเมืองนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย 2 ปี 275 วัน

แต่วิบากกรรมจากการเมืองยังไม่หยุดเพียงเท่านี้เมื่อ ป.ป.ช. ได้สอบสวนเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าวที่มีการทุจริตเป็นจำนวนมาก โดยส่งฟ้องศาลในข้อหาปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

จนทำให้ให้เธอถูกห้ามเล่นการเมืองห้าปีและยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญาต่อโครงการ ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกอีกด้วยหากพบว่ามีความผิด

และในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฯ นัดอ่านคำพิพากษา แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับไม่มาศาลฯ จึงมีการออกหมายจับและริบเงินประกัน 30 ล้านบาท พร้อมทิ้งปริศนาว่าเธอหายไปไหน ปิดตำนานนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น